การแก้ไขปัญหาเครือข่ายคอมพิวเตอร์อย่างเซียน

ตอน ขอคำแนะนำเรื่องการวางระบบเครือข่าย

เขียนโดย ปิยะ สมบุญสำราญ

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านวันนี้ มีเรื่องราวของการแก้ไขปัญหาระบบเครือข่ายให้กับท่านผู้อ่านท่านหนึ่งมาเล่าสู่กันฟังครับ น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่น ๆ ด้วยลองติดตามดูนะครับ

Trouble: ขอคำแนะนำเรื่องการวางระบบเครือข่าย

From: Nampetch C.

To: ‘piya@egat.ot.th’

Subject: ขอคำแนะนำเรื่องการวางระบบเครือข่ายค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ ปิยะ

ดิฉันได้ติดตามอ่านงานเขียนของคุณอยู่บ่อยๆ และมีหนังสือเรื่อง “ศาสตร์และศิลป์ในการติดตั้งระบบเครือข่ายชั้นเซียน” ที่จัดทำรวมเล่มและสนใจงานด้านระบบเครือข่ายเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันดิฉันทำงานในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งในแผนกมีดิฉันทำงานด้านคอมพิวเตอร์อยู่เพียงคนเดียว และบริษัทก็เพิ่งจะเริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้งานคอมพิวเตอร์ ซึ่งแน่นอนค่ะว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาก่อนเลย และขณะนี้บริษัทได้ขยายสาขาออกไปอย่างรวดเร็วแต่ระบบงานคอมพิวเตอร์ยังไม่ไปถึงไหน อย่างแรกอาจจะเป็นเพราะผู้บริหารยังไม่พิจารณางบประมาณด้านบุคลากรสำหรับงานระบบเครือข่ายและคอมพิเตอร์

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลให้ ณ ปัจจุบันดิฉันต้องศึกษางานเรื่องการวางระบบเครือข่ายให้กับบริษัทด้วย แต่คิดว่ายังไม่มีความชำนาญเพียงพอจึงอยากจะรบกวนขอคำแนะนำจากคุณปิยะเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานต่อไปและหวังว่าดิฉันคงจะได้รับคำตอบกลับมาในเร็วๆนี้

ภาพรวมระบบเครือข่ายขององค์กร

ลักษณะงานปัจจุบัน

  1. องค์กรดำเนินกิจการโดยใช้โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป EXPRESS ช่วยในการทำงานฝ่ายบัญชีและเป็นงานหลักที่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับระบบเครือข่าย
  2. ปัจจุบันบริษัทมีทั้งหมด 9 สาขา โดยแต่ละสาขาไม่ได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายถึงกัน และซื้อลิขสิทธิ์โปรแกรมมาสาขาละ 1 ชุด
  3. เมื่อต้องการดูข้อมูลของสาขาอื่นปัจจุบันใช้การสำรองใส่แผ่น Floppy disk มาเปิดยังสาขาของตนเอง (ทำให้ไม่สามารถทราบข้อมูลปัจจุบันของแต่ละสาขาได้)
  4. ระบบเครือข่ายมีเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ลงโปรแกรม Window 2000 server 1 เครื่อง และสำหรับเครื่องลูกใช้ Windows98se 4-5 เครื่อง ต่อ 1 สาขา
  5. การต่อแลนในบริษัทกำหนดให้มีการใช้งานแบบ Workgroup โดยแต่ละสาขาก็จะมีชื่อไม่เหมือนกัน
  6. ใช้การต่อแลนแบบ 10BaseT
  7. ค่า IP.Address อยู่ในช่วง 192.168.0.1-192.168.0.20
  8. ค่า Subnet Mask ใช้ค่า 255.255.255.0
  9. เครื่องคอมพิวเตอร์ในแต่ละสาขามีประมาณ 20 เครื่อง
  10. ระยะห่างที่ไกลที่สุดระหว่างเครื่องเซิร์ฟเวอร์กับเครื่องลูกประมาณ 30 เมตร
  11. สถานที่ทำงานเป็นสำนักงานที่ทำงานในชั้นเดียวกันหมด

ปัญหา

จากระบบเครือข่ายในปัจจุบันดิฉันควรจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไรดีเพื่อให้มีการแยกค่า IP ได้ว่าเครื่องไหนเป็นของแผนกไหน

ดิฉันลองกำหนดให้ใช้ค่า IP ให้อยู่ในช่วงต่างๆเพื่อกำหนดแยกแผนก ดังนี้

แผนกทั้งหมดในบริษัทแบ่งได้ดังต่อไปนี้

ชื่อแผนก รหัสประจำแผนก สถานที่
ผู้บริหาร – กรรมการ 001 มีเฉพาะสำนักงานใหญ่
ผู้บริหาร – ไม่ใช่กรรมการ 002
บัญชี – หน้าร้าน 101 มีทุกสาขา
บัญชี – สำนักงาน 102
บัญชี – การเงิน 103
เทคโนโลยีสารสนเทศ – ฮาร์ดแวร์ 201 มีเฉพาะสำนักงานใหญ่
เทคโนโลยีสารสนเทศ – ซอฟท์แวร์ 202 มีเฉพาะสำนักงานใหญ่
เทคโนโลยีสารสนเทศ – เน็ทเวิร์ค 203 มีเฉพาะสำนักงานใหญ่
ขาย – เฉพาะสินค้าที่ไม่ใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์ 301 มีทุกสาขา
ขาย – เฉพาะสินค้าที่ใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์ 302 มีทุกสาขา
บุคคล 401 มีเฉพาะสำนักงานใหญ่
คลังสินค้า 501 มีทุกสาขา

โดยทั้งหมดใช้ค่า subnet mask 255.255.255.0 เหมือนกันทุกเครื่อง (รูปแบบนี้กำหนดใช้ในทุกสาขา)

IP.ADDRESS : 192.168 . XXX . YYY

SUBNET MASK : 255.255.255.0

Workgroup = ชื่อสาขานั้นๆ

XXX = รหัสประจำแผนก

YYY = หมายเลขเครื่องนั้น (ไม่ซ้ำกัน)

ปัญหาที่พบก็คือเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่สามารถมองเห็นกันได้ทุกเครื่อง ซึ่งทำให้ไม่สามารถ Map network drive ตัวโปรแกรมบัญชีจากเครื่องเซิร์ฟเวอร์ได้ เพราะไม่เห็นกันเลย) ดิฉันควรจะจัดการอย่างไรดีค่ะ (เครื่องเซิร์ฟเวอร์ทุกสาขากำหนดให้มีค่าเป็น 192.168.0.1)

ผังระบบเครือข่ายในบริษัทเป็นดังนี้ค่ะ

รูปที่ 1 แสดงเครือข่ายของท่านผู้อ่าน

ดิฉันต้องขออภัยล่วงหน้าหากเป็นการรบกวนเวลาส่วนตัว หรือทำให้เกิดความลำบากขึ้นกับคุณปิยะ แต่ก็ยังหวังว่าจะได้รับคำแนะนำจากมืออาชีพในการพัฒนาการทำงานต่อไป

ขอบคุณมากๆค่ะ

น้ำเพชร

Shooting: ต้องกำหนดไอพีแอดเดรสและเน็ตมาสก์ใหม่

ไม่ถือว่าเป็นการรบกวนหรอกครับคุณน้ำเพชร กรณีศึกษาแบบนี้น่าสนใจมาก ท่านผู่อ่านอีกหลายท่านก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน แต่น่าดีใจแทนบริษัทนะครับที่มีพนักงาน ๆ ขยันและหมั่นศึกษาหาความรู้แบบนี้ อีกไม่นานต้องเก่งแน่ ๆ ครับ อย่างน้อยตอนนี้คุณน้ำเพชรก็เก่งที่สุดในบริษัทแล้วนะครับ ไม่ต้องกลัวใครก็ในบริษัทมีเราทำเรื่องคอมพิวเตอร์อยู่คนเดียวนี่น่า

ผมก็ไม่ทราบนะครับว่าเราโชคดีหรือโชคร้ายที่เกิดมาเป็นนักคอมพิวเตอร์ในเมืองไทย เพราะว่าคนที่ทำงานทางด้านคอมพิวเตอร์ในเมืองไทยนั้นต้องทำหมดทุกอย่างเขียนโปรแกรมก็ต้องเขียน ทำเครือข่ายก็ต้องทำ ซ่อมเครื่องก็ต้องทำบ้างครั้งก็ต้องยกเครื่องอีก ฝรั่งสู้เราไม่ได้หรอกครับ เขาจะทำกันเป็นอย่างเดียวเท่านั้นคนเขียนโปรแกรมก็เขียนไปคนดูแลระบบเครือข่ายก็ดูแลไป ไม่เกี่ยวกัน

อย่างในบริษัทคุณน้ำเพชรที่มีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของตนเอง ถ้าเป็นบริษัทฝรั่งเขาจะมีพนักงานอย่างน้อย 4 ทีมครับ ย้ำนะครับ 4 ทีมไม่ใช่ 4 คนคือ

  • System Analysis (SA) นักวิเคราะห์ระบบ
  • System Engineer (SE) วิศวกรรผู้ดูแลระบบ
  • Programmer นักพัฒนาโปรแกรม
  • User ผู้ใช้งาน

แต่ในบ้านเราแล้วทั้ง 4 ทีมนี้มักจะอยู่ในคนคนเดียวกันครับ งานก็เลยดูหนักไปหน่อยแต่บริหารงานได้ง่ายครับ คุยกับคนเดียวได้ทุกอย่างเลย เจ้านายน่าจะให้เงินเดือนเราเพิ่มซัก 4 เท่านะครับก็เราทำหมด ทั้ง 4 อย่างเลยนี่

ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

เอาละครับมาพูดถึงปัญหาของคุณน้ำเพชรดีกว่า คุณน้ำเพชรได้ออกแบบระบบเครือข่ายใหม่โดยการกำหนดไอพีแอดเดรสแทนให้สื่อความหมายถึงแผนกต่าง ๆ แล้วเกิดปัญหาขึ้นมาว่าเครื่องคอมพิวเตอร์มองไม่เห็นกันทั้งหมดไม่สามารถแชร์กันได้ เราต้องมาพิจารณากันสองเรื่องครับคือ

  1. การกำหนดค่าไอพีแอดเดรส
  2. การกำหนดให้เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน

การกำหนดค่าไอพีแอดเดรส

“ไอพีแอดเดรสมีค่าได้ระหว่าง 0-255 ครับ”

ค่าไอพีแอดเดรสนั้น ในความเป็นจริงแล้วจะใช้เลขฐานสองจำนวน 32 บิตหรือ 32 หลักในการระบุค่า เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องที่หนึ่งมีไอพีแอดเดรสเป็น “11000000101010000000000000000001” เป็นไงครับเขียนยาว ๆ แบบนี้ดูแล้วงงหรือเปล่า เพื่อให้ง่ายขึ้นจึงแบ่งทั้ง 32 บิตนี้ออกเป็นเป็นสี่กลุ่ม กลุ่มละ 8 บิต เขียนเรียงกันคั่นแต่ละชุดด้วยเครื่องหมายจุดเป็น 11000000.10101000.00000000.00000001 ก็ดูง่ายขึ้นมาหน่อย แล้วจากนั้นก็แปลงตัวเลขฐานสองในแต่ละกลุ่มให้เป็นเลขฐานสิบ โดยที่

11000000 = 192

10101000 = 168

00000000 = 0

00000001 = 1

แล้วนำมาเขียนใหม่ก็จะได้เป็น 192.168.0.1  เอาละครับคราวนี้ค่อยดูง่ายจำง่ายหน่อย

เนื่องจากตัวเลขในแต่ละกลุ่มจะเป็นตัวเลขฐานสองแปดหลักตั้งแต่ 00000000 ถึง 11111111 หรือ 0 ถึง 255 นั้นเอง ดังนั้นค่าสูงสุดที่เป็นไปได้ก็คือ 255 เท่านั้นครับ นอกจากนี้หมายเลขไอพีแอดเดรสที่ลงท้ายด้วย 0 จะถูกกันไว้เป็นหมายเลขเครือข่าย และ 255 จะถูกกันไว้ใช้ในการทำการกระจายข้อมูลให้เครื่องทุกเครื่อง(broadcast address) ดังนั้นหมายเลข ที่นำมากำหนดได้จึงมีค่าอยู่ระหว่าง 0 – 255 เท่านั้น และจะไม่กำหนดเลขตัวท้ายเป็น 0 หรือ 255

Shooting 1: ต้องแก้ไขหมายเลขประจำแผนกใหม่

คุณน้ำเพชรกำหนดหมายเลขไอพีแอดเดรสเของเครื่องคอมพิวเตอร์เป็น 192.168.XXX.YYY ซึ่ง XXX จะแทนหมายเลขแผนก ต้องกำหนดหมายเลขประจำแผนกใหม่นะครับอย่าให้เกิน 255 และสำหรับค่า YYY นั้นต้องอยู่ระหว่าง 1 ถึง 254 ครับ

การกำหนดให้เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่เครือข่ายเดียวกัน

ปัญหามันอยู่ที่ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะมองเห็นกันได้แชร์ไฟล์กันได้นั้นจะต้องอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งการที่เครื่องคอมพิวเตอร์จะอยู่ในเครือข่ายเดียวกันนั้นสำหรับเครือข่ายไมโครซอฟต์ที่บริษัทคุณน้ำเพชรใช้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

ต่ออยู่บนฮับตัวคุณน้ำเพชรกำหนดหมายเลขไอพีแอดเดรสเของเครื่องคอมพิวเตอร์เป็น 192.168.XXX.YYY ซึ่ง XXX จะแทนหมายเลขแผนก ต้องกำหนดหมายเลขประจำแผนกใหม่นะครับอย่าให้เกิน 255 และสำหรับค่า YYY นั้นต้องอยู่ระหว่าง 1 ถึง 254 ครับ

  1. เดียวกันหรือฮับที่เชื่อมต่อกันอยู่
  2. มีไอพีแอดเดรสอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน
  3. เป็นโดเมนเดียวกัน
  4. ถ้าไม่ได้เชื่อมต่ออยู่บนเครือข่ายเดียวกันจะต้องมี WINS เซิร์ฟเวอร์

การต่ออยู่บนฮับตัวเดียวกัน

ประการแรกก็คือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะแชร์ไฟล์ด้วยกันหรือมองเห็นกันได้นั้นจะต้องต่ออยู่บนฮับเดียวกันหรือเชื่อมต่อบนฮันที่ต่อพวงกันอยู่ ดูจากรูปที่คุณน้ำเพชรส่งมาก็ถูกต้องแล้วครับ เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทคุณน้ำเพชรนั้นจะอยู่บนฮับที่พ่วงกันอยู่ซึ่งถือว่าเป็นฮับชุดเดียวกัน

มีไอพีแอดเดรสอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน

ไอพีแอดเดรสในเครือข่ายเดียวกันนั้นเราดูที่ไอพีแอดเดรสและเน็ตมาสก์ครับ ให้สังเกตง่าย ๆ ที่ไอพีแอดเดรสจะประกอบไปด้วยตัวเลข 4 ชุด เครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันจะต้องมีไอพีแอดเดรสข้างหน้าเหมือนกัน แต่จะเหมือนกันกี่ชุดนั้นให้ดูจากค่าเน็ตมาสก์ โดยทั่วไปเน็ตมาสก์จะใช้กันอยู่สามค่าคือ 255.255.255.0, 255.255.0.0 และ 255.0.0.0 ลองดูที่ค่า 255 นะครับ จะเป็นตัวบอกว่าไอพีแอดเดรสในเครือข่ายเดียวกันจะเหมือนกันกี่ชุด ลองดูตัวอย่างค่าเน็ตมาสก์จากรูปดีกว่าครับ

ค่าเน็ตมากส์และระบบเครือข่าย

เครื่องคอมพิวเตอร์ในรูปตัวอย่างต่อไปนี้จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ 5 เครื่องโดยมีไอพีแอดเดรสดังนี้

192.168.0.1

192.168.0.2

192.168.0.3

192.168.1.1

192.168.0.1

การกำหนดเน็ตมาสก์เป็นค่าต่าง ๆ เราสามารถแยกเครือคอมพิวเตอร์ออกเป็นเครือข่ายต่างกันได้โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนไอพีแอดเดรสดังนี้ครับ

รูปที่ 2 เครือข่ายที่มีเน็ตมาสก์ เป็น 255.255.255.0

255.255.255.0        เน็ตมาสก์ มีเลข 255 อยู่สามชุด แสดงว่าไอพีแอดเดรสในเครือข่ายนี้จะมี 3 ตัวหน้าเหมือนกัน เช่น 192.168.0.1, 192.168.0.2, 192.168.0.3 จะเป็นเครือข่ายเดียวกัน แต่ 192.168.1.1 และ 192.169.0.1 จะถือว่าเป็นไอพีคนละเครือข่ายเนื่องจาก สามตัวหน้าไม่เหมือนกัน

รูปที่ 3 เครือข่ายที่มีเน็ตมาสก์เป็น 255.255.0.0

255.255.0.0             เน็ตมาสก์มีเลข 255 อยู่สองชุด แสดงว่าไอพีแอดเดรสในเครือข่ายนี้จะมี 2 ตัวหน้าเหมือนกัน จะทำให้ ไอพีแอดเดรส 192.168.0.1, 192.168.0.2, 192.168.0.3 และ 192.168.1.1 เป็นเครือข่ายเดียวกันแต่ 192.169.0.1 เป็นคนละเครือข่าย

รูปที่ 4 เครื่อข่ายที่มีเน็ตมาสก์เป็น 255.0.0.0

255.0.0.0 มีเลข 255 อยู่ชุดเดียวแสดงว่าไอพีแอดเดรสในเครือข่ายนี้จะมี ตัวหน้าตัวเดียวเหมือนกันแสดงว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในรูปอยู่ในระบบเครือข่ายเดียวกัน

แล้วทำไมไม่กำหนดเน็ตมาสก์เป็น 255.0.0.0 ทั้งหมด?

“จากตัวอย่างที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าถ้าเรากำหนดเน็ตมาสก์เป็บ 255.0.0.0 เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องก็จะมองเห็นกันหมด แล้วทำไมเราไม่ใช้ค่าเน็ตมาสก์เป็บ 255.0.0.0 ทั้งหมดเลยจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาแบ่งแยกว่าเครื่องไหนเป็นเครื่องไหนเครื่องคอมพิวเตอร์จะได้มองเห็นกันหมดเลย จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบเครือข่ายจะได้มีจำนวนมาก ๆ”

ต้องย้อนกับไปพูดถึงทฤษฎีการรับส่งข้อมูลในระบบเครือข่ายหน่อยครับ ระบบเครือข่ายที่เราใช้อยู่นี้จะเป็นการเชื่อมต่อแบบที่เรียกว่าอีเทอร์เน็ต โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบจะส่งข้อมูลถึงกันผ่านฮับ เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งเครื่องใดส่งข้อมูลออกมา ฮับจะทำหน้าที่ส่งข้อมูลไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง แต่ฮับจะเปรียบเสมือนช่องสัญญานของข้อมูลที่สามารถส่งได้ทีละเครื่องเท่านั้น ถ้ามีเครื่องหนึ่งเครื่องใดส่งข้อมูลอยู่เครื่องอื่นต้องหยุดรอใช้ช่องสัญญาณว่างก่อนจึงจะส่งข้อมูลได้ ดังนั้นถ้าเรามีเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบเครือข่ายเป็นจำนวนมาก การแย่งกันส่งข้อมูลก็จะเกิดขึ้น เครื่องคอมพิวเตอร์ก็จะต้องรอนานขึ้นกว่าจะได้ส่งข้อมูล

จะเห็นได้ว่าการทำหนดเน็สมาสก์ให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์มีขนาดใหญ่ขึ้นนั้นอาจจะสะดวกในการกำหนดไอพีแอดเดรสแต่ก็จะทำให้จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ในหนึ่งเครือข่ายมีมากเกินไปจนทำให้รับส่งข้อมูลได้ช้า ต้องดูที่ความเหมาะสมครับ โดยทั่วไปแล้วจะนิยมกำหนดเน็ตมาสก์ให้เป็น 255.255.255.0 เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบเครือข่ายมีจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ปัญหาอยู่ที่การกำหนดไอพีแอดเดรส

รูปที่ 5 ตัวอย่างการแบ่งเครือข่ายตามที่คุณน้ำเพชรกำหนด

ดูจากไอพีแอดเดรสที่คุณน้ำเพชรกำหนดมาแล้ว คุณนำเพชรใช้ไอพีแอดเดรสหลักที่สาม(นับจากซ้าย) เป็นตัวกำหนดแผนกและไอพีแอดเดรสหลักที่สี่เป็นตัวกำหนดหมายเลขเครื่องในแผนก ซึ่งก็ดูง่ายดีครับ เป็นระเบียบดีด้วย แต่ว่าพอมาดูที่เน็ทมาสก์แล้ว คุณน้ำเพชรกำหนดให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องมีเน็ตมาสก์เป็น 255.255.255.0 ดังนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นเครือข่ายเดียวกันจะต้องมีไอพีแอดเดรสสามชุดหน้าเหมือนกัน แสดงว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ในแผนกเดียวกันจะถือว่าเป็นเครือข่ายเดียวกัน

ลองดูในรูปที่ 5 นะครับ แผนกที่ 1 จะมีไอพีแอดเดรสเป็น 192.168.1.1, 192.168.1.2 และ 192.168.1.3 แผนกที่ 2 จะมีไอพีแอดเดรสเป็น 192.168.2.1, 192.168.2.2 และ 192.168.2.3 ทั้งสองแผนกนี้มีไอพีแอดเดรสเหมือนกันแค่สองหลักคือแค่ 192.168 เท่านั้น แต่ถูกกำหนดเน็ตมาสก์เป็น 255.255.255.0 จึงทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งสองแผนกอยู่กันคนละเครือข่าย และจะมองไม่เห็นกัน แชร์ไฟล์ แชร์เครื่องพิมพ์กันไม่ได้ แต่จะมองเห็นเครื่องที่อยู่ในแผนกเดียวกัน

Shooting 2: ทำให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน

ในกรณีนี้คุณน้ำเพชรมีวิธีแก้ไขอยู่สองวิธีครับ คือ

  1. เปลี่ยนไอพีแอดเดรสให้เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน
  2. เปลี่ยนเน็ตมาสก์ให้เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่เครือข่ายเดียวกัน

เปลี่ยนไอพีแอดเดรสให้เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่เครือข่ายเดียวกัน

รูปที่ 6 เปลี่ยนไอพีแอดเดรสให้เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่เครือข่ายเดียวกัน

เนื่องจากคุณน้ำเพชรกำหนดเน็ตมาสก์เป็น 255.255.255.0 หมายความว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในระบบเครือข่ายเดียวกันจะต้องมีไอพีแอดเดรส 3 ชุดหน้าเหมือนกัน ถ้าเครื่องแรกมีไอพีแอดเดรส เป็น 192.168.0.1 เครื่องต่อ ๆ ไปก็ต้องมีไอพีแอดเดรส ตัวสุดท้ายเป็น 2, 3, 4… 254 อย่าลืมนะครับไอพีแอดเดรสที่กำหนดให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นกำหนดได้ระหว่าง 1 ถึง 254 เท่านั้น

คุณน้ำเพชรต้องเปลี่ยนวิธีการกำหนดไอพีแอดเดรสใหม่โดยแบบเป็นช่วง ๆ เช่น 1-20 เป็นของแผนกที่หนึ่ง 21-40 เป็นของแผนกที่สอง 41-60 เป็นของแผนกที่สามเป็นต้น การแบ่งไอพีแอดเดรสออกเป็นช่วง ๆ แบบนี้ก็จะทำให้เราแยกแยะไอพีแอดเดรสของแต่ละแผนกได้เช่นเดียวกัน

ลองดูในรูปที่ 6 นะครับ ให้สังเกตไอพีแอดเดรสดี ๆ ไอพีแอดเดรสของแผนกที่หนึ่งจะเป็น 192.168.1.1, 192.168.1.2 และ 192.168.1.3 เหมือนเดิมแต่ ไอพีแอดแดรสของแผนกที่สองเปลี่ยนเป็น 192.168.1.21, 192.168.1.22 และ 192.168.1.23   เห็นหรือเปล่าครับว่าสามชุดหน้าเหมือนกันแล้ว คราวนี้เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งสองแผนกก็จะเป็นเครือข่ายเดียวกันแล้ว

เปลี่ยนเน็ตมาสก์ให้เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่เครือข่ายเดียวกัน

รูปที่ 7 เปลี่ยนเน็ตมาสก์ให้เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่เครือข่ายเดียวกัน

วิธีการนี้จะสะดวกกว่าวิธีแรกครับ ให้คุณน้ำเพชรเปลี่ยนเน็ตมาสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องเป็น 255.255.0.0 คราวนี้เครื่องคอมพิวเตอร์ของทุก ๆ แผนกก็จะเป็นเครือข่ายเดียวกันแล้วเพราะว่าทุกเครื่องจะมีไอพีแอดเดรสสองหลักหน้าเหมือนกันคือ 192.16 แล้วค่าไอพีแอดเดรสของเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละแผนกก็ไม่ต้องเปลี่ยนอะไร วิธีนี้ดูจะง่ายและสะดวกกว่านะครับ

วิธีนี้ไม่เหมาะสำหรับเครือข่ายขนาดใหญ่ ๆ ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์มากเพราะเป็นการขยายเน็ตมาสก์ให้กว้างขึ้น จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายเดียวกันก็จะมากขึ้น ถ้าเรามีเครือข่ายที่มีไอพีแอดเดรสสองชุดหน้าเหมือนกันหลาย ๆ เครือข่าย การขยายเน็ตมาสก์จะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครือข่ายกลายเป็นเครือข่ายเดียวกัน คราวนี้ก็ยุ่งละครับ ข้อมูลวิ่งชนกันระนาวทีเดียว

รูปที่ 8 ผลเสียของการขยายเน็ตมาสก์

ลองดูเครือข่ายในรูปที่ 8 นะครับ ผมยกตัวอย่างว่าบริษัทหนึ่งจะแบ่งไอพีแอดเดรสเป็น 6 แผนก แต่ละแผนกจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่หนึ่งร้อยเครื่อง สังเกตที่ไอพีแอดเดรสนะครับ ขึ้นต้นด้วย 192.168 เหมือนกันแต่เลขที่ตามมาไม่เหมือนกันเปลี่ยนไปตามแผนก ก็คล้าย ๆ กันที่คุณน้ำเพชรแบ่งไอพีแอดดเดรสหลักที่สามแยกตามแผนกนั่นแหละครับ ถ้าเรากำหนดเน็ตมาสก์เป็น 255.255.255.0 เราจะได้เครือข่าย 6 เครือข่าย ซึ่งมีเครื่องคอมพิวเตอร์เครือข่ายละ 100 เครื่อง แต่ถ้าเราขยายเน็ตมาสก์เป็น 255.255.0.0 เราจะได้เครือเดียวที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ถึง600 เครื่อง ข้อมูลวิ่งชนกันระนาวอย่างที่บอกไปแล้วนั่นแหละครับ ตามธรรมดาเราจะกำหนดให้เครื่องคอมพิวเตอร์ในหนึ่งเครือข่ายไม่เกิน 50 เครื่องครับ จะได้รับส่งข้อมูลกันสะดวก ๆ หน่อย

แล้วถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์คนละเครือข่ายต่ออยู่บนฮับเครื่องเดียวกันจะเป็นอย่างไร ?

รูปที่ 9 การใช้ฮับร่วมกัน

บางท่านสงสัยว่าถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่บนฮับเครื่องเดียวกันแต่กำหนดไอพีแอดเดรสเป็นคนละเครือข่ายจะใช้งานได้หรือไม่ เครื่องคอมพิวเตอร์จะเสียหายหรือไม่

ก็ต้องตอบว่าสามารถใช้งานได้ตามปรกติครับไม่เกิดความเสียหายต่อเครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างไรเพียงจะมองกันไม่เห็นเท่านั้น ก็แบบที่คุณน้ำเพชรเป็นอยู่ตอนนี้ไงครับ คือจะมองเห็นเฉพาะเครื่องที่อยู่ในแผนกเดียวกันเท่านั้น เครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในแผนกอื่นซึ่งอยู่กันคนละเครือข่ายจะมองไม่เห็น

แต่ต้องระวังเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย และความหนาแน่นของข้อมูล บางท่านแบ่งไอพีแอดเดรสของแต่ละแผนกแยกจากกันเป็นคนละเครือข่ายเรียบร้อย แต่ปรากฏว่าใช้ฮับเครื่องเดียวเชื่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องเข้าหากัน ผลก็คือข้อมูลที่วิ่งอยู่ในระบบก็ยังมากอยู่เหมือนเดิมครับ เพียงแต่มองไม่เห็นแชร์ไฟล์กันไม่ได้เท่านั้น ถ้าจะให้แยกเครือข่ายออกจากกันโดยเด็ดขาดแล้วจะต้องใช้เราเตอร์มาคั่นแทนฮับครับ

โดเมนเดียวกัน

แค่ฮับและการกำหนดไอพีแอดเดรสนั้นเพียงพอสำหรับการใช้ทั่วไปเท่านั้นนะครับ เช่นการใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือการใช้งานโปรโตคอลทีซีพีไอพี แต่ถ้าเราต้องการแชร์ไฟล์บนวินโดวส์หรือแชร์เครืองพิมพ์บนวินโดวส์เราาจะต้องกำหนดโดเมนของเครื่องให้ตรงกันด้วยถึงจะมองเป็นเครือข่ายเดียวกันได้

เนื่องจากเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบเครือข่ายของคุณน้ำเพชรเป็นวินโดวส์ทั้งหมด และต้องการแชร์ไฟล์จากเครื่องเซิร์ฟเวอร์ด้วย ดังนั้นการที่กำหนดโดเมนให้เหมือนกันทั้งสาขา ก็ถูกต้องแล้วแหละครับ

จะติดต่อข้ามสาขาต้องทำอย่างไร

รูปที่ 10 การเชื่อมต่อข้ามสาขา

เห็นคุณน้ำเพชรบอกว่าเวลาต้องการอัพโหลดข้อมูลทีหนึ่งก็ต้องก็อปปี้ดิสก์กันทีหนึ่ง วินโดวส์ 2000 ที่คุณน้ำเพชรใช้อยู่นั้นสามารถหมุนโมเด็มเข้าหากันและเชื่อมต่อเครือข่ายสองเครือข่ายเข้าหากันผ่านสายโทรศัพท์ได้นะครับ ลองศึกษาดู จะได้ไม่ต้องส่งดิสก์เก็ต นอกจากนี้ยังสามารถติดตั้งให้เป็นไอเอสพีย่อย ๆ ได้ เราสามารถหมุนโมเด็มจากบ้านเข้ามายังเครื่องเซิร์ฟเวอร์เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ได้ ลองดูรายละเอียดในเซอร์วิส RAS ของวินโดวส์ 2000 นะครับ

เอาละครับเล่ามายาวเลย หวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้คุณน้ำเพชรได้บ้างนะครับ ท่านผู้อ่านลองนำปัญหาเหล่านี้ไปประยุกต์กับหน่วยงานของท่านดูนะครับ แล้วถ้ามีปัญหาคำถามหรือข้อเสนอแนะประการใด เมล์มาคุยกันได้ครับที่ piya@egat.or.th พบกันใหม่ตอนหน้า …. สวัสดีครับ