ทำความรู้จัก Xmind  ซอฟท์แวร์สำหรับสร้าง Mind Map แบบ Open Source

เขียนโดย สันติ สวนศรี

            “สองมือล้วงกระเป๋า สองเท้าก้าวเข้ามา” ประโยคนี้มักจะได้ยินบ่อยเสมอตามงานวัดหรือตลาดนัดต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้คนมาเลือกซื้อสินค้าและเที่ยวงานที่ได้มีการจัดสรรไว้อย่างหลากหลาย  ถ้าผมจะใช้ประโยคนี้เป็นประโยคแรกในการเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านหันมามอง มาชม open source บ้างก็คงไม่ผิดอะไร เพราะตลาดนัดโปรแกรม open source นั้นก็มีสินค้าและบริการให้ท่านได้เลือกซื้อ เลือกชมอย่างมากมาย ไม่ต่างจากงานวัดใหญ่ๆ หรือตลาดนัดสินค้าตามที่ต่างๆ แต่อาจจะต่างกันตรงที่ กระเป๋าที่ท่านล้วงมือเข้าไปไม่จำเป็นต้องมีเงินมาก ท่านก็สามารถใช้โปรแกรมที่มีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการของท่านได้อย่างสบายใจ        

            ฉบับนี้ผมจึงขออนุญาติท่านผู้อ่าน ชวนให้มาชมโปรแกรมตัวหนึ่ง ซึ่งโปรแกรมนี้ใช้สำหรับสร้าง Mind Map โปรแกรมนี้คือ Xmind

            นับตั้งแต่ โทนี บูซาน นักจิตวิทยาชาวอังกฤษได้ทำการคิดทฤษฎี Mind Map ขึ้น หรือ “แผนที่ความคิด” ในชื่อภาษาไทย ความสนใจและความนิยมใน Mind Map นี้ก็มีมากขึ้นตามลำดับ ยิ่งมีการส่งเสริมให้นักเรียน อาจารย์ หรือแม้แต่คนวัยทำงานทั่วไปได้เรียนรู้วิธีการสร้างและใช้ ก็ทำให้ Mind Map นั้นถูกพูดถึงในทุกวงการ ในวงการซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ก็เช่นเดียวกัน ก็ได้มีนักพัฒนาและบริษัทซอฟต์แวร์จำนวนมากได้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่สามารถสร้าง Mind Map ได้ง่าย สะดวกและรวดเร็วมานำเสนอกันอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบที่ต้องชำระเงินซื้อมา เช่น MindManager ซึ่งได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ หรือแม้กระทั่งสังคม Open Source ซึ่งเป็นสังคมแห่งการสรรค์สร้างซอฟต์แวร์ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ ก็ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ในการสร้าง Mind Map เป็นจำนวนมาก เช่น FreeMind ซึ่ง FreeMind นี้เป็นที่รู้จักโดยคนจำนวนมาก และรู้จักกันมานาน ในฐานะ Open Source ที่จัดการแผนที่ความคิด

            แต่ในความรู้สึกของคนใช้ทั่วไปซอฟต์แวร์ที่ฟรีย่อมไม่ค่อยดีในแง่การใช้งานและคุณสมบัติที่ไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่จะหันไปสนใจซอฟต์แวร์ที่เสียเงินมากกว่า แต่กระบวนการนำมาใช้กลับไม่ใช่การซื้อมาใช้แต่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แทน ทำให้เกิดปัญหาในแง่ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจริงๆแล้ว ในปัจจุบันซอฟต์แวร์ Open Source นั้นไม่ได้มีคุณสมบัติด้อยกว่าซอฟต์แวร์ที่เสียเงินเลย สามารถทำงานได้เหมือนกัน และมีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจเสียด้วยซ้ำ การใช้เทคโนโลยีอย่างพอเพียง มองซอฟต์แวร์ตามงานที่ต้องใช้จริง ถือเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน สำหรับการสร้าง Mind Map นั้นซอฟต์แวร์ Open Source ที่ได้รับความนิยมที่จะนำมาทดแทนซอฟต์แวร์ที่มีค่าใช้จ่าย คนทั่วไปจะใช้ Freemind ซึ่งโด่งดังมากในโลก Open Source แต่ในครั้งนี้ผมจะแนะนำอีกโปรแกรมหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน แถมมีคุณสมบัติที่มากกว่าด้วย ซอฟต์แวร์นี้ชื่อว่า Xmind

           Xmind เป็นซอฟต์แวร์ Open Source สัญชาติจีน บริษัทที่พัฒนาอยู่ฮ่องกง ทีมงานได้เริ่มออกแบบและพัฒนาตั้งแต่ปี 2006 และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องซึ่งในปัจจุบันอยูที่ version 3.2โดย Xmind มี 3 รูปแบบ ได้แก่

           –  Xmind แบบ Open Source ซึ่งให้ใช้ฟรี มีคุณสมบัติที่เพียงพอต่อการสร้าง Mind Map

           –  Xmind Pro เป็นซอฟต์แวร์แบบ commercial ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเป็นรายปี และมีคุณสมบัติที่มากกว่า

           –  Xmind Share เป็นบริการแบบ online ที่ web ของ Xmind สำหรับให้ upload mind map ที่สร้างด้วย Xmind เพื่อแบ่งปันแก่คนอื่นตามแนวคิด social networking

           Xmind ยังทำงานข้าม Platform ไม่ว่าจะเป็น Linux, Windows, Mac หรือแบบ Portable ที่นำไปใส่ใน USB drive เพื่อให้ใช้ได้ทุกที่โดยไม่ต้องติดตั้ง

ความนิยมในตัว Xmind

            Xmind เคยได้รับรางวัล “Eclipse Community Award” ในปี 2008 ประเภทซอฟต์แวร์ Eclipse ชนิด commercial ยอดเยี่ยม จากรุ่น Xmind 2008 และในปี 2009 Xmind 3 ยังได้รับรางวัล “SourceForge Community Choice Awards” สาขาโครงการสำหรับการศึกษายอดเยี่ยม และอีกความนิยมหนึ่งจากการตรวจสอบจาก Google trends พบว่า Xmind กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในระดับที่น่าสนใจ แม้ว่าจะไม่ได้เท่ากับ Freemind ซึ่งโด่งดังและเป็นที่รู้จักมานานกว่า แต่ก็คาดว่า Xmind จะเป็นโครงการ Open Source ที่ได้รับความนิยมในอนาคต

Xmind เหมาะสำหรับ

           Xmind ถูกออกแบบมาให้ทำงานได้ง่ายและหลากหลาย จึงเหมาะสำหรับคนหลายๆ กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ผู้จัดประชุม ผู้บริหารโครงการ อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา พนักงานในแผนกต่างๆ ผู้จัดการทีม สถาปนิก นักออกแบบ และอื่นๆ ซึ่งคุณสมบัติต่างๆ ที่น่าสนใจจะนำเสนอต่อจากนี้

Work book และ Sheet

           Xmind มีการใช้แนวคิดของ spreedsheet มาสร้างพื้นที่ทำงาน โดยส่วนที่ไว้สร้าง mind map นั้นเรียกว่า workbook ซึ่ง workbook นั้นสามารถมีหลายหน้าได้ โดยแต่ละหน้านั้นเรียกว่า sheet ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี เพราะในการเขียน mind map นั้น ถ้าเราเขียนไปเรื่อยๆ จะทำ mind map กว้างไปเรื่อยๆ ทำให้อาจจะดูยากและไม่สามารถจบในหน้าเดียว การที่มี sheet จะทำให้เราสามารถเชื่อมโยงไปยัง sheet อื่นๆ ภายใต้ workbook เดียวกันได้ ถือว่าเป็นการจัดระบบการทำ mind map ที่ดี

Floating Topic

           ตามหลักการของ Mind Map ทุกหัวข้อต้องโยงจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งเสมอ ไม่มีอะไรที่จะขึ้นมาลอยๆ ทุกอย่างต้องมีความสัมพันธ์กัน แต่ Xmind ได้เพิ่มประเภทของ topic มาอีกหนึ่งแบบคือ Floating Topic ซึ่งไว้สำหรับสร้างหัวข้อขึ้นมาลอยๆ เพื่อการแทรกคำอธิบายหรือเรื่องที่ไม่เข้าพวก

การทำงานกับโครงสร้าง Mind Map

            Xmind ได้ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดสร้างหัวข้อต่างๆ ใน Mind Map ได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว Mind Map ส่วนใหญ่ใช้แผนภูมิต้นไม้ในการสัดการ แต่รูปแบบโครงสร้างที่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็น แบบกล้างปลา แบบกระจายออกจากตรงกลาง แบบแผนผังองค์กร แบบกระจายด้านข้าง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ Xmind มีสีสรรขึ้นอย่างมาก

การแทรก Marker

            เมื่อ Mind Map ถูกสร้างขึ้นมา  Mind Map นี้จะสวยงามได้ไม่ใช่จะมีแค่ข้อความและตัวอักษร แต่จำเป็นต้องใส่ภาพประกอบเข้าไปเพื่อให้ Mind Map น่ามองและสะดุดตาในแต่ละหัวข้อมากขึ้น Xmind ได้เตรียมรูปที่จะไปปะข้างหน้าหัวข้อต่างๆ ไว้หลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มระดับความสำคัญ กลุ่มหน้ายิ้ม กลุ่มธง กลุ่มดาว กลุ่มแสดงสถานะของงาน และอื่นๆ ไว้ช่วยให้ผู้ทำได้ใช้ marker ที่มีในการตกแต่ง Mind Map ให้สวยงาม

การแทรกส่วนอื่นๆ

            นอกจาก marker แล้ว Xmind ยังมีส่วนต่างๆ อีกหลายส่วนสำหรับแทรกเข้าไปใน Mind Map เพื่อให้แผนที่แผ่นนั้นมีความสำคัญและน่าสนใจขึ้นมา สิ่งที่แทรกหรือจัดการได้แก่

           –  label ข้อความการอธิบายหัวข้อที่อยู่ในแต่ละกล่องข้อความ

          –  notes ข้อมูลบันทึกเพื่อเตือนความจำเราอีกทาง สำหรับผู้จัดทำให้ไม่ลืมแนวคิด วิธีการหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆ

          –  hyperlink การเชื่อมโยงไป web ไป file หรือไป หัวข้อที่อยู่ใน workbook เดียวกัน และ sheet ต่างๆ ไว้

          –  file ที่เกี่ยวข้องกับ Mind Map ชิ้นนั้นๆ

          –  summary ผลสรุปรวมของ Mind Map ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเสนอผู้บริหารอีกครั้งหนึ่ง จะอยู่ภายใต้ปีกกา

          –  image รูปภาพต่างๆ Xmind ยอมให้เราใช้รูปต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไปแทรกเข้ามาในระบบ Xmind เพื่อให้สวยงามและน่าใช้มากขึ้น

          –  relationship เส้นความสัมพันธ์ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงสิ่งที่อยู่ใน Mind Map นั้นมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

          –  boundary กรอบกำหนดขอบเขต เป็นการเน้นความสำคัญของหัวข้อนั้น หรือเป็นการล้อมกรอบหัวข้อบางอย่าง เพื่อให้ง่ายต่อการมองและความเข้าใจ

รูปแบบการนำเสนอแบบต่างๆ

            รูปแบบการนำเสนอถือว่าเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่น่าสนใจของ Xmind โดย Xmind สามารถให้ผู้สร้างกำหนดรูปแบบ template ของ mind map ได้ตั้งแต่ตอนแรก หรือแม้กระทั่งในระหว่างการดำเนินการจัดทำก็สามารถที่เปลี่ยนสีพื้นหลัง รูปแบบกล่องหัวข้อ รูปแบบเส้น หรือรูปแบบขอบเขต เป็นต้น ได้ รูปแบบสำเร็จรูปที่ Xmind เตรียมไว้ให้ เช่น Mind Map แนวการระดมความคิด แบบหัวข้อในการประชุม แบบโครงสร้างองค์กร หรือแบบการบริหารโครงการ เป็นต้น

การทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์อื่นๆ

            การที่ Xmind จะเป็นตัวเลือกในการสร้าง Mind Map ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น จะต้องการงานกับโปรแกรมอื่นได้ ในที่นี้คือการเข้าใจชนิดไฟล์ของโปรแกรมเหล่านั้น Xmind ได้เตรียมกระบวนการ import และ export ไฟล์ไว้ เพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นสามารถทำงานต่อได้ การ import นั้นสามารถนำเข้าข้อมูลที่ได้จาก Freemind และMindManager และกระบวนการส่งออกก็เหมือนกัน ก็สามารถแปลงเป็นไฟล์ได้หลากหลายชนิด เพื่อนำไปใช้ตามความต้องการ เช่น รูปภาพ Freemind, MindManager, HTML เป็นต้น

            จากคุณสมบัติดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า Xmind น่าใช้เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยมีความสามารถที่หลากหลาย และสร้าง mind map ตามทฤษฎีได้อย่างครบถ้วน ประกอบกับมี interface ที่สวยงามทำให้น่าใช้งาน ถ้าท่านใดสนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มและ download ได้ที่ www.xmind.net ท่านจะพบว่าการใช้เทคโนโลยีอย่างพอเพียงไม่ยากอย่างที่คิด แล้ว Open Source จะใกล้ชิดท่านมากขึ้นด้วย